สมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพหรือสุขสมรรถนะ

๑) องค์ประกอบของสมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพหรือสุขสมรรถนะมีองค์ประกอบที่สำคัญ ๕ องค์ประกอบ ดังนี้

๑. องค์ประกอบของร่างกาย (Body Composition) ตามปกติในร่างกายมนุษย์จะประกอบด้วยกล้ามเนื้อ กระดูก ไขมัน และอื่นๆ แต่ในส่วนของสมรรถภาพทางกายจะหมายถึงสัดส่วนของปริมาณไขมันภายในร่างกายกับมวลของร่างกายที่ปราศจากไขมัน โดยการวัดออกมาเป็นดัชนีมวลภายหรือวัดเป็นค่าเปอร์เซ็นต์ไขมัน(% fat) ด้วยเครื่องมือวัดทางวิทยาศาสตร์ซึ่งมีหลายชนิด

๒. ความอดทนของระบบไหลเวียนเลือดและระบบหายใจ (Cardio respiratory Endurance) หมายถึง สมรรถนะเชิงปฏิบัติการของระบบไหลเวียนเลือด (หัวใจ หลอดเลือด) และระบบหายใจในการลำเลียงออกซิเจนไปยังเซลล์กล้ามเนื้อต่างๆ ทำให้ร่างกายสามารถยืนหยัดที่จะทำงานหรือออกกำลังกายที่ต้องใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่เป็นระยะเวลานานได้

๓. ความอ่อนตัวหรือความยืดหยุ่น (Flexibility) หมายถึง ความสามารถของการเคลื่อนไหวที่สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ของข้อต่อหรือกลุ่มข้อต่อ

๔. ความอดทนของกล้ามเนื้อ (Muscular Endurance) หมายถึง ความสามารถของกล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่ง หรือกลุ่มกล้ามเนื้อในการหดตัวซ้ำๆ เพื่อต้านแรงหรือความสามารถในการคงสภาพการหดตัวครั้งเดียวได้เป็นระยะเวลานาน

๕. ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ(Muscular Strength) หมายถึง ปริมาณสูงสุดของแรงที่กล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่งหรือกลุ่มกล้ามเนื้อ สามารถออกแรงต้านทานได้ในช่วงการหดตัว ๑ ครั้ง

) การสร้างเสริมสมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพ

                การสร้างเสริมสมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพ เป็นการปรับปรุงสภาวะของร่างกายให้อวัยวะต่างๆ ของร่างกายมีประสิทธิภาพในการทำหน้าที่สูง และมีการประสานงานกันของระบบต่างๆภายในร่างกายได้เป็นอย่างดี สมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพ เป็นการสร้างเสริมเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี วิธีการสร้างเสริมสมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพ คือ การออกกำลังกายนั่นเอง การสร้างเสริมสมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพที่นิยมใช้ในโรงเรียน เพื่อสร้างเสริมให้มีสุขภาพที่ดี เช่น

๑. การเดิน-วิ่ง ๑,๖๐๐ เมตร

๒. การนั่งงอตัว

๓. การลุก-นั่ง

๔. การดันพื้น

เมื่อนักเรียนปฏิบัติแล้วรู้ว่า สมรรถภาพทางกายของเราไม่แข็งแรงพอ หรือเราต้องการสร้างเสริมให้มีสุขภาพที่ดี ก็ควรปฏิบัติเฉพาะในการสร้างเสริมทางกายด้านนั้น เช่น เรารู้ว่าเราไม่มีความอดทนเพียงพอในการวัดความแข็งแรงกล้ามเนื้อหน้าท้อง เราก็ต้องฝึกหรือเพิ่มการปฏิบัติให้มากกว่าปกติ

) หลักสำคัญในการฝึกสมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพ

หลักสำคัญในการฝึกสมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพ คือ การเพิ่มงานมากกว่าปกติ หมายถึง การออกแรงทำงานหรือออกกำลังกายให้มากกว่าปกติและมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ร่างกายต้องรับได้โดยการเพิ่มน้ำหนักของงาน เพิ่มระยะเวลา หรือเพิ่มจำนวนชุดในการฝึกปฏิบัติให้มากขึ้น

การออกกำลังกายที่สามารถเพิ่มสมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพได้ ต้องปฏิบัติอย่างน้อย ๓-๕ ครั้ง ใน ๑ สัปดาห์ หรือบ่อยครั้งเท่าที่ทำได้ แต่ไม่ควรน้อยกว่า ๓ ครั้ง ใน ๑ สัปดาห์ และในการออกกำลังกายแต่ละครั้งควรให้มีความหนักหรือความเหนื่อย โดยวัดได้จากอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดร้อยละ ๕๕-๘๕ ของอัตราการเต้นหัวใจสูงสุด ถ้าออกกำลังกายแล้ว การเหนื่อยที่น้อยกว่าร้อยละ ๕o ของอัตราการเต้นหัวใจสูงสุด จะไม่เกิดผลต่อการเพิ่มสมรรถภาพทางกาย การออกกำลังกายในแต่ละครั้งต้องออกกำลังกายติดต่อกันให้นานอย่างน้อย ๑๕-๓o นาทีต่อครั้ง ซึ่งสามารถเพิ่มสมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพได้ และกิจกรรมที่จะช่วยสร้างเสริมสมรรถภาพทางกายและหัวใจได้ต้องเป็นกิจกรรมที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ในการออกแรง เช่น การวิ่ง การขี่จักรยาน การว่ายน้ำ

ดังนั้น หลักในการฝึกสมรรถภาพทางกาย ต้องเน้นหลัก ๓ ประการ คือ ความถี่ ความนาน และความหนักในการออกกำลังกาย หรือดัชนีกิจกรรมการออกกำลังกาย

ดัชนีกิจกรรมการออกกำลังกาย หมายถึง การประเมินกิจกรรมการออกกำลังกายอย่างมีแบบแผน โดยมีการกำหนดความหนักหรือความเหนื่อย ช่วงเวลาเวลาหรือความนานและความถี่ของการกระทำกิจกรรมนั้นๆ

Leave a comment