ทักษะการสื่อสาร

ทักษะ การสื่อสาร หมายถึง ความสามารถในการใช้คำพูดและภาษาท่าทางเพื่อแสดงความรู้สึกนึกคิดของตนอย่าง เหมาะสมกับสภาพวัฒนธรรมและสถานการณ์ต่างๆ โดยสามารถที่จะแสดงความคิดเห็น ความปรารถนา ความต้องการ การขอร้อง การเตือน และการขอความช่วยเหลือ

การสื่อสารนั้นสามารถทำได้หลายช่องทาง เช่น การพูดคุยกันต่อหน้า การพูดคุยกันทางโทรศัพท์ การพูดคุยกันทางอินเทอร์เน็ต การส่งจดหมายติดต่อถึงกัน การส่งอีเมล์ การส่งข้อความทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ การมีทักษะในการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้คนในครอบครัวมีความเข้าใจกัน เป็นการช่วยป้องกันและลดความขัดแย้งในครอบครัวลงได้ หรือแม้แต่ปัญหาเรื่องเพศ พ่อ แม่ ลูก หรือสามี ภรรยา ก็สามารถสื่อสารพูดคุยกันได้ เมื่อครอบครัวมีความเข้าใจกันก็สามารถแก้ปัญหาในเรื่องเพศได้ การมีทักษะการสื่อสารที่ดี จำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะในด้านการเป็นผู้พูดที่ดีและการเป็นผู้ฟังที่ดี ดังนี้

๑.๑ การเป็นผู้พูดที่ดี ควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้

พูดกับใคร

การพูดนั้นต้องใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมกับคนที่เราพูดด้วย เช่น พูดกับพ่อแม่ พูดกับเพื่อน หรือ พูดกับเด็ก พูดกับผู้ใหญ่ ก็จะต้องใช้ระดับภาษาที่ต่างกันและควรใช้คำสุภาพเพราะการใช้คำพูดที่ไม่ สุภาพอาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้

พูดที่ไหน

การพูดนั้นต้องใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมกับสถานที่ ควรดูว่าเป็นที่ส่วนตัว ที่สาธารณะ หรือ อยู่ในพิธีการ ควรใช้คำพูดและระดับเสียงให้เหมาะสมกับสถานที่นั้น เช่น หากนักเรียนอยู่ในพิธีไหว้ครูแล้วจำเป็นต้องพูดกับเพื่อนควรพูดอย่างกระชับ โดยใช้น้ำเสียงเบาเพื่อนไม่ให้รบกวนผู้อื่น

พูดเวลาใด

การพูดนั้นควรคำนึงถึงอารมณ์ของผู้ที่เราสนทนาด้วยว่าในเวลานั้นเป็นอย่างไร หรือ สถานการณ์ในขณะนั้นเราควรจะพูดอย่างไร เช่น ไม่ควรพูดเล่นในขณะที่พูดเป็นการเป็นงาน ไม่พูดเย้าแหย่ในขณะที่มีอารมณ์โกธร

พูดในโอกาสใด

การพูดคุยในโอกาสต่างๆ ควรมีความแตกต่างกัน เช่น ในงานสังสรรค์อาจพูดคุยกันอย่างเต็มที่สนุกสนาน  ใน งานศพควรสำรวมกิริยาไม่หัวเราะ ไม่พูดตลกขบขัน ในงานแต่งงานควรใช้คำพูดที่เป็นสิริมงคล ไม่ควรพูดล้อเล่นให้คู่บ่าวสาวเกิดความระแวงแคลงใจกัน

พูดอย่างไร

เป็นการพูดให้ผู้ฟังรู้สึกชอบใจ ซึ่งต้องใช้คำพูดที่สุภาพ นุ่มนวล ไม่หยาบคาย เป็นคำพูดในเชิงบวก ไม่พูดติเตียนให้ร้ายผู้อื่น ใช้คำพูดที่ไพเราะพูดด้วยความจริงใจไม่เสแสร้ง ถ้าทำได้ เช่นนี้ ก็จะทำให้ผู้ฟังหรือคู่สนทนาพอใจ

คำศัพท์สำคัญ

Communication (คะมิวนิเค_ชัน) การติดต่อสื่อสาร

Conversation (คอนเวอเซ_ชัน) การสนทนา การพูดคุยกัน

๑.๒ การเป็นผู้ฟังที่ดี ควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้

๑) ตั้งใจฟัง พยายามจับเนื้อหาและทำความเข้าใจในเนื้อเรื่องที่ผู้พูดกำลังพูด ต้องมีสมาธิจดจ่อในการฟัง

๒) ต้องคิดตาม คือ คิดตามไปกับเรื่องที่กำลังฟังนั้นด้วยการใช้วิจารณญาณอย่างมีเหตุมีผล

๓) ไม่ขัดจังหวะผู้พูด คือ ไม่พูดสอดแทรก โต้แย้ง หรือซักถาม เมื่อผู้พูดยังพูดไม่จบ ต่อเมื่อผู้พูดพูดจบแล้วจึงโต้แย้งหรือซักถามได้

๔) ต้องควบคุมอารมณ์ในการฟัง เมื่อไม่พอใจในคำพูดหรือไม่อยากฟังผู้นั้นพูด ต้องรู้จักเก็บอารมณ์ที่ไม่ดีไว้ ไม่แสดงอารมณ์ที่แสดงว่าไม่พอใจออกมา จึงจะนับได้ว่าเป็นผู้ฟังที่ดี

๕) แสดงความสนใจผู้พูด ซึ่งทำได้โดยการมองสบตาผู้พูดในบางจังหวะ พยักหน้าเมื่อเห็นด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้พูดมีกำลังใจในการพูด

ตัวอย่างการใช้ทักษะการสื่อสาร

คุณพ่อซื้อกีตาร์ให้โต้งเป็นของขวัญวันเกิด เพราะโต้งมีผลการเรียนดี หลังจากได้กีตาร์โต้งก็ซ้อมเล่นกีตาร์ทุกวันจนดึกและในวันหยุดโต้งก็ไปซ้อม เล่นกีตาร์ที่บ้านเพื่อนจนไม่ได้อ่านหนังสือทำให้ผลการเรียนของโต้งตกต่ำลง อย่างมาก คุณพ่อจึงเรียกโต้งมาคุยในเย็นวันหนึ่ง

คุณพ่อ : “โต้ง.ช่วงนี้พ่อไม่เห็นโต้งอ่านหนังสือทบทวนบทเรียนเลย”

โต้ง : “ช่วงนี้โต้งอยากเล่นกีตาร์ให้เก่ง เพราะโต้งจะลงแข่งประกวดวงดนตรีกับเพื่อนที่โรงเรียนครับ”

คุณพ่อ : “โต้ง ต้องแบ่งเวลาให้ถูกนะลูก การเรียนก็เป็นเรื่องที่สำคัญต่ออนาคตของลูก โต้งควรอ่านหนังสือทบทวนบทเรียนในช่วงใกล้สอบด้วย ไม่ควรเอาเวลาไปเล่นดนตรีเพียงอย่างเดียว เพราะหากโต้งมีผลการเรียนที่ไม่ดีพ่อกับแม่คงเสียใจที่ซื้อกีตาร์ให้กับโต้ง”

โต้งนั่งและคิดตาม ในสิ่งที่คุณพ่อพูดสอนและเข้าใจจึงกราบขอโทษคุณพ่อ

โต้ง : “โต้ง ขอโทษครับ ต่อไปโต้งจะแบ่งเวลาให้ถูกต้อง อ่านหนังสือทบทวนบทเรียน ไม่ใช่เวลาทั้งหมดไปกับการเล่นดนตรีโต้งไม่อยากทำให้พ่อแม่เสียใจ”

คุณพ่อ : “ดีแล้วลูก พ่อและแม่รักและหวังดีกับโต้งจึงได้ตักเตือนนะ”

อาชีพน่ารู้ เจ้าหน้าที่การทูต หรือ นักการทูต  เป็นบุคคลที่รัฐบาลแต่งตั้งให้ดำเนินกิจการทางการทูตกับรัฐอื่นหรือองค์การ ระหว่างประเทศ โดยมีหน้าที่หลัก คือ การเป็นผู้แทนเจรจาและปกป้องผลประโยชน์ตลอดจนปกป้องประเทศ เช่นเดียวกับการสนับสนุนข้อมูลแล้วความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เจ้าหน้าที่การทูตส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาด้ายความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หรือ กฎหมาย

Leave a comment